การสอบเทียบเครื่องปั่นเลือด จำเป็นไหม? มีกี่ขั้นตอน ?

Last updated: 17 ส.ค. 2566  |  1168 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สอบเทียบ เครื่องปั่นเลือด

เครื่องปั่นเลือด (Centrifuge) เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในห้องแล็บ, โรงพยาบาล ฯลฯ ทำให้การทำงานของเครื่องต้องมีความถูกต้องและแม่นยำสูงมาก ซึ่งวิธีที่จะเช็คว่าเครื่องปั่นเลือดที่ท่านใช้งานอยู่มีความแม่นยำตามมาตรฐานหรือไม่ ท่านสามารถทำได้โดยการส่งเครื่องปั่นเลือดไปทำการสอบเทียบ (Calibration)

การสอบเทียบจะเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านได้ทราบถึงความแม่นยำของตัวเครื่อง ซึ่งการสอบเทียบมีวิธีการทำอย่างไร และสำคัญมากน้อยเพียงใดกับการใช้งานเครื่องปั่นเลือด ? สามารถทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้ได้เลยครับ

 



ความสำคัญของการสอบเทียบเครื่องปั่นเลือด

การสอบเทียบ คือกระบวนการที่ตรวจสอบความถูกต้อง/แม่นยำ ของอุปกรณ์นั้น ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในการทำงาน ตัวเครื่องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งในบริบทของเครื่องปั่นเลือด จะสามารถแบ่งได้เป็น

1.ความแม่นยำ

สำหรับความเร็วรอบ (RPM) จะถือเป็นค่าสำคัญที่ต้องเช็คให้มั่นใจว่าเครื่องปั่นสามารถปั่นจำนวนเร็วรอบได้ตามที่หน้าจอแสดงขึ้นมาจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ต้องการได้

นอกจากความเร็วรอบที่สำคัญแล้ว เวลาที่ตั้งก็สำคัญ (Timer) โดยในขั้นตอนการสอบเทียบก็จะมีการจับเวลาเปรียบเทียบด้วยเช่นกันว่าค่าที่ได้รับออกมาตรงกับเวลาที่จับหรือไม่

หลายคนอาจจะมองว่าทำไมกับแค่เวลายังต้องมาสอบเทียบด้วย มันไม่น่าจะเกิดข้อผิดพลาดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วข้อผิดพลาด สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และยิ่งโดยเฉพาะเครื่องปั่นเลือดเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญทำให้ยิ่งต้องเช็คอย่างละเอียดเพื่อให้เครื่องสามารถใช้งานออกมาได้ถูกต้องที่สุด 

2.เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของแล็บ

โดยทั่วไป แล็บ จะมีมาตรฐานของเครื่องมือแพทย์หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ ดังนั้นจึงมีมาตรฐานของแต่ละแล็บ ที่เครื่องมือต่าง ๆ จะต้องผ่านการสอบเทียบมา และค่าที่สอบเทียบต้องอยู่ในมาตรฐานที่รับได้ (สามารถมีค่าที่เหวี่ยงได้ไม่เกิน X% ขึ้นอยู่กับแล็บ นั้น ๆ) เป็นต้น


ควรสอบเทียบกับสถาบันอะไรดี?

ในการสอบเทียบ สามารถสอบเทียบกับสถาบันใด ๆ ก็ได้ที่ได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ซึ่งบริษัทฯ ดังกล่าวก็จะต้องมีบุคลากรที่ได้รับการอบรมในการสอบเทียบเป็นอย่างดี รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบเทียบก็จะต้องถูกสอบเทียบมาด้วยเช่นกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้รับบริการสอบเทียบ

จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ ที่รับทำการสอบเทียบจะต้องมีมาตรฐานในทุก ๆ ด้าน จึงจะสามารถผ่านมาตรฐาน ISO ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ที่ทำการส่งสอบเทียบจึงสามารถไว้ใจในค่าที่สอบเทียบออกมาได้

 

ขั้นตอนในการสอบเทียบ

ขั้นที่ 1 “ตรวจสอบวิธีใช้งานเครื่องเบื้องต้น และเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ในกาสอบเทียบ”

ผู้ให้บริการสอบเทียบ จะทำการตรวจสอบวิธีการใช้งานเบื้องต้นก่อน เพื่อให้สามารถใช้งานตัวเครื่องปั่นเลือดได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต

จากนั้นผู้ให้บริการก็จะเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบเทียบเพื่อเตรียมที่จะสอบเทียบในขั้นตอนต่อไป โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบเทียบเช่น อุปกรณ์วัดความเร็วรอบ (Tachometer) และ ที่จับเวลา (Stopwatch) ฯลฯ

 

ขั้นที่ 2 “ตั้งค่าความเร็วรอบ และเวลาที่ต้องการปั่น ตามที่ผู้ส่งสอบเทียบกำหนด”

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตั้งค่าความเร็วรอบ (RPM) และตั้งเวลา (ส่วนใหญ่จะใช้เป็นนาที แต่เครื่องปั่นบางรุ่นเช่นเครื่องปั่นล้างเซลล์ (Serofuge/Cell Washing Centrifuge) จะใช้เป็นหน่วยวินาที) ให้ตรงกับที่หน่วยงานที่ส่งมาสอบเทียบต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะให้สอบเทียบโดยการตั้งความเร็วรอบและเวลาเสมือนว่าตอนใช้งานจริง แต่สำหรับเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานนั้น ๆ

 

ขั้นที่ 3 “สอบเทียบความเร็วรอบ”

เริ่มการปั่นและวัดความเร็วรอบด้วยเครื่อง Tachometer **

** สำหรับเครื่องปั่นเลือดทั่วไปจะมีสเป็คพื้นฐานที่ต้องออกแบบฝาปิดเครื่องปั่นมาให้มีช่องโปร่งใสตรงกลางเพื่อที่จะสามารถใช้เครื่อง Tachometer ทำการวัดสอบเทียบความเร็วรอบได้

 

ขั้นที่ 4 “สอบเทียบเวลา”

เช็คเวลาโดยใช้เครื่องจับเวลา โดยกดเริ่มจับเวลาตอนที่เครื่องเริ่มทำงานและกดหยุดตอนที่เครื่องหยุดการทำงาน และทำการเปรียบเทียบกันว่าเวลาดังกล่าวตรงกันหรือไม่

 

ขั้นที่ 5 “ออกเอกสาร ตรวจสอบความเรียบร้อย ติดสติ๊กเกอร์สอบเทียบ เป็นอันเสร็จสิ้น”

หลังจากที่ได้ค่าความเร็วรอบและเวลามาเรียบแล้ว ขั้นตอนต่อไป ผู้ให้การสอบเทียบก็จะทำเอกสารที่บอกข้อมูลว่าตัวเครื่องนั้น ๆ มีค่าความแม่นยำเท่าไร หากไม่แม่นยำ ค่าที่ไม่แม่นยำนั้นเหวี่ยงจากความเป็นจริงเท่าใด โดยคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ส่งสอบเทียบทำการตรวจเช็คค่าต่าง ๆ และดูความถูกต้องของเอกสาร

หลังจากนั้นผู้ให้บริการสอบเทียบก็จะนำสติ๊กเกอร์ (ที่บอกข้อมูลเบื้องต้นว่า ได้ผ่านการสอบเทียบแล้วในวันที่ ... และจะหมดอายุลงในวันที่ ...., ชื่อผู้ให้บริการการสอบเทียบ ฯลฯ) เพื่อยืนยันว่าเครื่องดังกล่าวได้ผ่านการสอบเทียบแล้ว ไปติดไว้กับเครื่อง เป็นอันเสร็จสิ้นการสอบเทียบ

 

จำเป็นไหม ที่จะต้องสอบเทียบเครื่องปั่นเลือดทุกเครื่อง?

จริง ๆ แล้วเครื่องปั่นเลือดทั่วไปถูกผลิตออกมาผ่านโรงงานที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้นในแง่คุณภาพควรจะออกมาดีและได้มาตรฐาน จึงอาจที่ไม่จำเป็นต้องสอบเทียบกับทุกเครื่อง

อย่างไรก็ตาม หากต้องการความมั่นใจในการใช้งานเครื่อง การสอบเทียบอีกครั้งก็ถือเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้หากเป็นแล็บ จะต้องมีการสอบเทียบเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับห้องแล็บ

สรุป

การสอบเทียบเครื่องปั่นเลือดถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำ โดยถือเป็นการทำ QC อย่างหนึ่ง และนอกจากนี้ ตามที่กล่าวข้างต้นว่าสำหรับห้องแล็บ การที่จะนำอุปกรณ์การแพทย์หรือวิทยาศาสตร์มาใช้ จะต้องผ่านมาตรฐานที่แล็บนั้น ๆ กำหนดไว้ ถึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ ฉะนั้นอีกหนึ่งความสำคัญคือสอบเทียบเพื่อที่จะผ่านมาตรฐานและนำมาใช้งาน

การสอบเทียบนอกจากเสริมสร้างความมั่นใจในผลลัพธ์ในการปั่นเหวี่ยงที่จะออกมาแล้ว ยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรนั้น ๆ อีกด้วย หรือในกรณีที่ผู้ใช้งานได้มีการตีพิมพ์งานวิจัย ผู้อ่านก็ย่อมอยากได้ความมั่นใจว่า ในงานวิจัยนั้น อุปกรณ์เครื่องปั่นเลือดที่นำมาเป็นอุปกรณ์การวิจัยได้มีการผ่านการสอบเทียบมาหรือไม่ เป็นต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้